ชุดตรวจ ATK ตรวจโควิดแบบเร่งด่วน รู้ผลไว ใช้งานอย่างไรให้แม่นยำที่สุด

ชุดตรวจ ATK เป็นอุปกรณ์ที่นำมาใช้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อคัดกรองเบื้องต้น โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชุดตรวจแบบ Home use ที่ประชาชนสามารถซื้อกลับมาตรวจเองที่บ้านได้อย่างสะดวก และชุดตรวจแบบ Professional Use ซึ่งมักใช้ในสถานพยาบาล ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ตรวจให้เท่านั้น

ชุดตรวจ ATK ตรวจโควิดแบบเร่งด่วน รู้ผลไว ใช้งานอย่างไรให้แม่นยำที่สุด

ตรวจโควิด

ชุดตรวจ ATK เป็นอุปกรณ์ที่นำมาใช้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อคัดกรองเบื้องต้น โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชุดตรวจแบบ Home use ที่ประชาชนสามารถซื้อกลับมาตรวจเองที่บ้านได้อย่างสะดวก และชุดตรวจแบบ Professional Use ซึ่งมักใช้ในสถานพยาบาล ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ตรวจให้เท่านั้น

 

Doctor at Home จะมาแนะนำการใช้งานชุดตรวจ ATK แบบ Home use ที่ทำเองได้ ไม่ยากอย่างที่คิด โดยการใช้งาน จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

1. ชุดตรวจ ATK แบบ Swab

การตรวจด้วยการเก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอและหลังโพรงจมูก ก่อนตรวจควรทำความสะอาดมือและพื้นที่ที่ใช้ตรวจให้สะอาด ป้องกันการปนเปื้อน พร้อมตรวจสอบอุปกรณ์ว่าต้องมีครบตามที่ระบุไว้ในคู่มือของชุดตรวจ

การใช้งานชุดตรวจแบบ Swab ต้องเอาก้านไม้สำลีสอดเข้าไปในโพรงจมูก ความลึกของการสอดประมาณ 1 นิ้ว วิธีการใช้งานชุดตรวจอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของชุดตรวจ ชุดตรวจส่วนใหญ่จะทราบผลภายใน 15-30 นาที

 

2. ชุดตรวจ ATK แบบน้ำลาย

การตรวจโดยใช้น้ำลาย จำเป็นต้องมีการเตรียมร่างกายด้วยการงดน้ำ งดอาหาร งดสูบบุหรี่หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง งดแปรงฟัน และงดการใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อเป็นเวลา 30 นาทีขึ้นไป

การใช้งานชุดตรวจแบบน้ำลายผู้ตรวจจะต้องบ้วนน้ำลายด้วยการกระแอมจากลำคอขึ้นมา และบ้วนลงไปในหลอดเก็บตัวอย่างน้ำลายในปริมาณที่กำหนด จากนั้นทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในคู่มือของชุดตรวจ ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที จึงจะทราบผล

การใช้ชุดตรวจแบบน้ำลายนั้น ดูจะใช้งานง่ายกว่าชุดตรวจแบบ Swab แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน เพราะจะต้องงดน้ำ งดอาหาร ฯลฯ ก่อนตรวจ 30 นาทีขึ้นไป ไม่เช่นนั้นผลตรวจอาจผิดพลาดได้

 

การอ่านผลตรวจ

  • ผลลบ (Negative) : แถบสีปรากฏเฉพาะตำแหน่ง C เพียงขีดเดียว แสดงว่าไม่มีเชื้อ 
  • ผลบวก (Positive) : แถบสีปรากฏทั้งตำแหน่ง C และ T รวมเป็น 2 ขีด แสดงว่ามีเชื้อ 
  • หากไม่ปรากฏขีดใด ๆ ต้องทำการทดสอบใหม่
     

ข้อควรระวังในการใช้

  • ชุดตรวจ ATK ต้องได้รับการลงทะเบียนจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
  • ควรตรวจสอบวันหมดอายุของชุดตรวจ
  • การอ่านผลตรวจที่เร็วหรือช้าเกินไป อาจเกิดความผิดพลาดได้ จึงต้องอ่านผลตามเวลาที่ระบุในคู่มือของชุดตรวจ
  • หากน้ำยาสกัดเชื้อโดนผิวหนัง หรือเข้าตาให้ล้างทันทีด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก

 

ความแม่นยำของชุดตรวจ ATK แต่ละประเภท

 

ชุดตรวจแบบ Home use ทั้งแบบ Swab และแบบน้ำลาย มีความแม่นยำในระดับเบื้องต้นเท่านั้น หากไม่พบเชื้อแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรทำการตรวจซ้ำหลังจากตรวจครั้งแรกไปแล้ว 3-5 วัน ผู้ที่มีความเสี่ยงมากควรตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำ เพื่อยืนยันผลที่แน่นอน ความแม่นยำจากการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ

  • ตรวจในเวลาที่เร็วเกินไป เช่น อาจติดเชื้อก่อนตรวจเพียงแค่ 1 วัน ทำให้เชื้อยังไม่เพิ่มจำนวน และตรวจไม่พบ
  • เชื้อมีปริมาณน้อย ทั้งก่อนและหลังติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือติดเชื้อจนร่างกายกำจัดเชื้อออกไปมากแล้ว ทำให้ตรวจไม่เจอ แต่เชื้อนี้สามารถติดต่อคนใกล้ตัวได้

 

วิธีทิ้งชุดตรวจ ATK ที่ใช้งานแล้ว


ชุดตรวจ ATK นับเป็นขยะติดเชื้อ มีวิธีการทิ้ง ดังนี้
 

  1. ฆ่าเชื้อก่อนทิ้ง ด้วยการนำชุดตรวจที่ใช้แล้วใส่ลงในถุง จากนั้นฉีดหรือราดแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% หรือน้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคลอไรท์) ความเข้มข้น 6% ผสมน้ำ (สัดส่วนการผสมสำหรับ 1 ลิตร นำน้ำยาฟอกขาว 1 ฝา (10 มล.) ใส่ในขวดเปล่าขนาด 1 ลิตร จากนั้นเติมน้ำจนเต็มขวด)   
  2. ปิดปากถุงให้แน่น ฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อแล้วนำไปใส่ในถุงขยะอีกใบ พร้อมปิดปากถุงให้สนิทเช่นกัน
  3. ถุงที่ใช้ทิ้งควรเป็น "ถุงสีแดง" หากไม่มีให้ใส่ถุงพลาสติก 2 ชั้น พร้อมเขียนข้อความ “ขยะติดเชื้อ” หรือ “ชุดตรวจโควิด” ให้เห็นชัดเจน
  4. ฉีดพ่นด้วยแอลกอฮอล์บริเวณปากถุงอีกครั้ง เมื่อจัดการขยะติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

 

การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK เป็นทางเลือกหนึ่งในการตรวจหาเชื้อที่สะดวก รวดเร็ว แม้จะยืนยันผลไม่ได้ 100% แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาด เพราะยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเซฟชีวิต เซฟคนรอบข้าง จากโควิด-19 ได้

ข้อมูลล่าสุด : 7 ก.ค. 2567