วัคซีน Covid-19 ควรฉีดต่อ หรือ พอได้แล้ว?

 

วัคซีน Covid-19 ควรฉีดต่อ หรือ พอได้แล้ว?

วัคซีนCovid-19

 

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่า Covid-19 จะกลายมาเป็นโรคระบาดตามฤดูกาลเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เราคุ้นเคย กระทรวงสาธารณสุขยังเผยอีกว่า เราอาจต้องฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ควรได้รับทุก ๆ ปี  บทความนี้ จะพาไปหาคำตอบว่า ควรฉีดวัคซีน Covid-19 ต่อไปหรือพอแค่นี้ และใครควรฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันบ้าง

 

Covid-19 และสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป

 

โรคโควิด-19 จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป ในขณะที่ไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสายพันธุ์ใหม่จะวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อ โดยหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เราสามารถแบ่งผู้ติดเชื้อออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่มีอาการ กลุ่มมีอาการเล็กน้อย กลุ่มมีอาการเล็กน้อยแต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย

 

Covid-19 สายพันธุ์ใหม่ ฉีดวัคซีนเก่าได้ไหม?

 

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันข้ามสายพันธุ์ได้ดี หากติดเชื้อก็จะช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วยด้วย เราสามารถฉีดได้ทั้งวัคซีนรุ่นเก่า (Monovalent) และวัคซีนรุ่นใหม่ (Bivalent) โดยวัคซีนรุ่นใหม่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันและป้องกันโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ได้สูงกว่าในช่วงต้น แต่เมื่อระดับภูมิคุ้มกันเริ่มตกหลังฉีดวัคซีนมาสักพัก ประสิทธิภาพจะไม่ต่างกันมาก หากไม่สามารถฉีดวัคซีนรุ่นใหม่ (Bivalent) ได้ เนื่องจากวัคซีนมีไม่พอกับความต้องการ ก็สามารถฉีดวัคซีนรุ่นเก่าได้เช่นกัน ไม่ควรรอ เพราะอาจจะติดเชื้อไปเสียก่อน

 

ในช่วงที่ยังมีการระบาดอยู่นี้ ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำอีกว่า เราควรได้รับวัคซีนห่างจากเข็มสุดท้ายหรือการติดเชื้อครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนหรือได้รับน้อยกว่า 3 เข็ม รวมถึงคนทั่วไปที่แม้ได้รับวัคซีนมาแล้วหลายเข็ม แต่หากทิ้งช่วงนานกว่า 3-4 เดือน ก็ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิเช่นกัน

 

ใครควรฉีดวัคซีน Covid-19 กระตุ้นภูมิ

 

จริง ๆ แล้วเราทุกคนควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอยู่เสมอในสถานการณ์ที่โควิดยังคงแพร่ระบาด โดยเฉพาะ “กลุ่ม 608” คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อระดับรุนแรง ได้แก่
 

  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนี้ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และ โรคเบาหวาน
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป 

 

สรุป

 

จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ อาจสรุปได้ว่าวัคซีน COVID-19 ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสได้ประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดความรุนแรงของโควิด-19 ได้มาก อย่างไรก็ตาม อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการรับวัคซีนตามสายพันธุ์ของเชื้อ การแพร่กระจายที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงความสะดวกของแต่ละบุคคลด้วย โดยการป้องกันที่ได้ผลดีอยู่เสมอคือ สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่าง

 

อ่านข้อมูล โรคโควิด-19 (COVID-19) เพิ่มเติม

 

คุณสามารถเช็กอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหลไข้ไข้ร่วมกับหอบเจ็บคอ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคโควิด-19 ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 27 ส.ค. 2567