
ไซนัส (sinus)* หมายถึง โพรงอากาศเล็ก ๆ ในกะโหลกศีรษะที่อยู่รอบ ๆ จมูก และมีทางเชื่อมมาเปิดที่โพรงจมูกอยู่หลายจุด ในภาวะปกติจะมีการระบายของเมือกที่สร้างขึ้นในโพรงไซนัสลงมาที่รูเปิดในโพรงจมูกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก แต่ถ้ารูเปิดเหล่านี้ถูกอุดกั้น เช่น เป็นหวัด (เยื่อบุจมูกและไซนัสอักเสบบวม) จากการติดเชื้อหรือภูมิแพ้ ผนังกั้นจมูกคด หรือมีเนื้องอกในรูจมูก ทำให้เมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถระบายออกมาได้ เมือกเหล่านี้จะหมักหมมกลายเป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ลุกลามมาจากโพรงจมูกเข้าไปในโพรงไซนัส ทำให้เยื่อบุไซนัสอักเสบบวม ขนอ่อนในโพรงไซนัสสูญเสียหน้าที่ในการขับเมือกและมีการสร้างและสะสมของเมือกมากขึ้น กลายเป็นหนองขังอยู่ในโพรงไซนัสเกิดอาการของโรคไซนัสอักเสบ
โรคนี้แบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลัน (มีอาการน้อยกว่า 30 วัน) กึ่งเฉียบพลัน (มีอาการระหว่าง 30-90 วัน) และเรื้อรัง (มีอาการมากกว่า 90 วัน)
ไซนัสอักเสบ** เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ซึ่งมักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กซึ่งมีโอกาสเป็นไข้หวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัดภูมิแพ้ เยื่อจมูกอักเสบ ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด รากฟันเป็นหนอง เป็นต้น
ผู้ป่วยอาจมีประวัติโรคภูมิแพ้ (เช่น หวัดภูมิแพ้ โรคหืด ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้) ในครอบครัว
.jpg)
*ไซนัสทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นและความชื้นแก่อากาศที่หายใจเข้าไปในทางเดินหายใจ ช่วยในการรับรู้กลิ่น ปรับเสียงพูด และสร้างเมือก (เพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก) ภายในเยื่อบุโพรงไซนัส (โพรงอากาศ) จะมีขนอ่อน (cilia) คอยโบกพัดเพื่อระบายเมือก (เสมหะหรือน้ำมูก) ออกข้างนอก
**การอักเสบอาจเกิดกับไซนัสได้ทุกตำแหน่ง แต่ที่พบได้บ่อยสุด ได้แก่ ไซนัสโหนกแก้ม (maxillary sinus) ซึ่งจะมีอาการปวดที่โหนกแก้ม
สาเหตุ
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute sinusitis) มักเป็นโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นและหวัดภูมิแพ้ เชื้อที่ทำให้ไซนัสอักเสบอาจเกิดจากเชื้อไวรัส (เชื้อกลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดไข้หวัด จะมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล นานกว่า 7-10 วัน และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่) แบคทีเรีย (ส่วนใหญ่ ได้แก่ สเตรปโตค็อกคัสนิวโมเนีย ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ) ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อรา ซึ่งถ้าพบในผู้ป่วยเบาหวานหรือเอดส์มักมีอันตรายร้ายแรง
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis) ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน สแตฟีโลค็อกคัส กลุ่มแบคทีเรียแกรมลบ บางครั้งอาจมีการติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน
ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อรา เช่น แอสเปอจิลลัส (aspergillus) ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง เนื่องจากรูเปิดในโพรงไซนัสถูกอุดกั้น อันเนื่องมาจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อเชื้อรา (allergic fungal sinusitis) หรือมีก้อนเชื้อรา (fungal ball) ขนาดโต ภาวะนี้พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงเป็นปกติ
ไซนัสอักเสบเรื้อรังมักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคหวัดภูมิแพ้ ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นซ้ำซาก การสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ โรคกรดไหลย้อน โรคทางทันตกรรมเรื้อรัง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เอดส์) เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส เป็นต้น
อาการ
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่มักมีอาการปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ (เช่น ปวดที่บริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม รอบ ๆ กระบอกตา หรือหลังกระบอกตา บางรายอาจรู้สึกคล้ายปวดฟันตรงซี่บน) อาจปวดเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ อาการปวดมักเป็นมากเวลาเช้าหรือบ่าย เวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า
ผู้ป่วยมักมีอาการคัดแน่นจมูก พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ ต้องคอยสูดหรือขากออก
อาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดหู ไอ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง
ในเด็กอาการมักไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ อาจมีอาการเป็นหวัดนานกว่าปกติ กล่าวคือ มีน้ำมูก (ใสหรือข้นเป็นหนองก็ได้) และไอนานกว่า 10 วัน มักจะไอทั้งกลางวันและกลางคืน อาจมีไข้ต่ำ ๆ และหายใจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย
เด็กบางรายอาจแสดงอาการเป็นหวัดรุนแรงกว่าปกติ เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส น้ำมูกข้นเป็นหนอง ปวดที่บริเวณใบหน้า หลังตื่นนอนสังเกตเห็นอาการบวมรอบ ๆ ตา
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักมีอาการต่อเนื่องทุกวันนานเกิน 90 วัน ในผู้ใหญ่มักมีอาการคัดแน่นจมูก มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลง ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้และอาการปวดไซนัสแบบที่พบในไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
ในเด็กมักมีอาการไอ น้ำมูกไหล จาม หายใจมีกลิ่นเหม็น มีโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือหูชั้นกลางอักเสบซ้ำซาก บางรายอาจมีไซนัสอักเสบเฉียบพลันกำเริบมากกว่าปีละ 6 ครั้ง แต่ละครั้งนานกว่า 10 วัน
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เป็นหูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เนื้อเยื่อรอบตาอักเสบ (periorbital cellulitis) ฝีรอบกระบอกตา (orbital abscess) กระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyelitis)
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อย เช่น ประสาทตาอักเสบ (optic neuritis) ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีสมอง ภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดในสมอง (cavernous/saggital sinus thrombosis) เป็นต้น
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจทำให้โรคหืดกำเริบรุนแรง หรือเป็นถุงน้ำเมือก (mucocele) ในไซนัส ซึ่งเกิดจากการสะสมของสิ่งคัดหลั่งเป็นเวลานาน ถุงน้ำเมือกอาจกดทำลายกระดูกที่เป็นผนังของโพรงไซนัสให้บางลง หรือทะลุกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น ตา ทำให้มองเห็นภาพซ้อน มักเกิดกับไซนัสหน้าผาก (frontal sinus)
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักเกิดในเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มักตรวจพบเยื่อบุจมูกมีลักษณะบวมแดง เคาะหรือกดแรงตรงบริเวณไซนัสที่อักเสบ (เช่น หน้าผาก หัวตา ใต้ตา หรือโหนกแก้ม) จะรู้สึกเจ็บ ซึ่งมักพบเพียงข้างเดียว บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักตรวจพบเยื่อบุจมูกมีลักษณะบวมแดง คอหอยแดง มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว อาจตรวจพบอาการเคาะหรือกดเจ็บบริเวณไซนัสที่อักเสบ ผนังกั้นจมูกคด หรือติ่งเนื้อเมือกจมูก
ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ไซนัส ตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้กล้องส่องตรวจจมูก (rhinoscopy) ทำการเจาะไซนัส (antral puncture) นำหนองไปตรวจหาชนิดของเชื้อ เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดหรือมีไข้ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้าคัดจมูกมากให้ยาแก้คัดจมูก อาจช่วยลดการบวมของเนื้อเยื่อที่อักเสบ และช่วยระบายหนองออกจากไซนัส
ส่วนยาแก้แพ้จะไม่ให้ เพราะอาจทำให้เมือกในโพรงไซนัสเหนียว ระบายออกได้ไม่ดี ยกเว้นในรายที่มีอาการของภูมิแพ้มาก เช่น จาม น้ำมูกมาก อาจให้เพียง 2-3 วันเพื่อบรรเทาอาการ
แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ สูดดมไอน้ำอุ่น และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลบ่อย ๆ เพื่อช่วยระบายหนอง
2. ในรายที่เกิดจากแบคทีเรีย (น้ำมูกหรือเสมหะเป็นหนอง ปวดใบหน้า หายใจมีกลิ่นเหม็น หรือความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลง) ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน, อีริโทรไมซิน หรือร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น
ถ้าพบว่ามีปัญหาเชื้อดื้อต่อยาปฏิชีวนะพื้นฐานดังกล่าว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีการใช้ยาชนิดเดิมซ้ำหลายครั้ง) ก็จะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มใหม่ เช่น โคอะม็อกซิคลาฟ, ดอกซีไซคลีน, ไซโพรฟล็อกซาซิน, อะซิโทรไมซิน (azithromycin)} หรือเซฟูร็อกไซม์ (cefuroxime) เป็นต้น
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน ให้กินติดต่อกันนาน 10-14 วัน ในรายที่เป็นเรื้อรังให้นานอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 12 สัปดาห์
ถ้ามีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจทำการเจาะล้างโพรงไซนัส (antral irrigation)
ในรายที่เป็นเรื้อรัง จำเป็นต้องตรวจหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุและให้การรักษา เช่น โรคหวัดภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด โรคทางทันตกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน เอดส์) เป็นต้น
แพทย์จะพิจารณาทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยา หรือตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อรา* หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือสมอง การผ่าตัดมีหลายวิธี รวมทั้งการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเข้าไปในโพรงไซนัส (endoscopic sinus surgery)
ผลการรักษา ในรายที่เป็นเฉียบพลัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกมักจะได้ผลดี ส่วนในรายที่เป็นเรื้อรัง ผลการรักษาขึ้นกับการได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกและการแก้ไขสาเหตุที่พบ ในรายที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด มักจะได้ผลดีในการบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
*ถ้าพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง มักเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเอาออก โดยไม่ต้องให้ยาต้านเชื้อรา แต่ถ้าพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน มะเร็ง เอดส์) มักเป็นไซนัสอักเสบชนิดร้ายแรง ซึ่งอาจมีอันตรายร้ายแรง (เช่น การติดเชื้อรุนแรงในสมองหรือลูกตา เป็นต้น) แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเอาออก และให้ยาต้านเชื้อรา
การดูแลตนเอง
หากสงสัยว่าจะเป็นไซนัสอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อพบว่าเป็นไซนัสอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้
- ดูแลรักษาและกินยาตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- สูดดมไอน้ำอุ่น และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ
- งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ขณะมีอาการกำเริบ หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน ถ้าจำเป็นต้องนั่งเครื่องบิน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ
- หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำนาน ๆ เนื่องจากสารคลอรีนในสระอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อจมูกและโพรงไซนัสได้
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ใช้ยารักษา 3-4 วันแล้วไม่ดีขึ้น
- มีอาการไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
- เจ็บหน้าอกมาก หรือหายใจหอบ
- ปวดบริเวณใบหน้าหรือรอบกระบอกตามาก
- ปวดศีรษะมาก
- อาเจียนรุนแรง
- สายตามัวหรือเห็นภาพซ้อน
- ปวดหู หูอื้อ
- หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- มีความวิตกกังวล
การป้องกัน
1. หาทางป้องกันไม่ให้เป็นหวัดบ่อย หากเป็นไข้หวัดหรือหวัดภูมิแพ้ ควรดูแลรักษาให้ถูกต้อง อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง
2. แก้ไขภาวะผิดปกติของโครงสร้างจมูก (เช่น ติ่งเนื้อเมือกจมูก ผนังกั้นจมูกคด เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส) หรือรักษาโรคกรดไหลย้อน ถ้าพบว่าเป็นสาเหตุของโรคไซนัสอักเสบ
3. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ และมลพิษทางอากาศ
4. หมั่นออกกำลังกาย และผ่อนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่มีอาการเป็นหวัด มีน้ำมูกหรือมีเสมหะในคอ มีลักษณะข้นเหลืองหรือเขียว เป็นหวัดต่อเนื่องกันทุกวันนานผิดปกติ (เช่น นานเกิน 10 วัน) หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ อาจเป็นอาการแสดงของโรคไซนัสอักเสบก็ได้
2. ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ควรแยกออกจากโรคหวัดภูมิแพ้ (ซึ่งจะมีอาการจาม คันคอ คันจมูก น้ำมูกใส เป็นสำคัญ) และมะเร็งในโพรงไซนัส (ซึ่งจะมีอาการปวดไซนัสอย่างต่อเนื่อง และมักมีเลือดกำเดาไหลร่วมด้วย) นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนั้นจึงควรตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุ อาจช่วยให้ทุเลาได้
3. ไม่ควรรักษากันเองตามแบบพื้นบ้าน เช่น ใช้สารกรดบางอย่างหยอดเข้าจมูก (ทำให้มีน้ำมูกไหลออกมามาก เพราะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูก) อาจทำให้เกิดการอักเสบ และจมูกพิการได้