
ฝีรอบทวารหนัก หมายถึง ภาวะการอักเสบเกิดเป็นฝีที่ใต้ผิวหนังในบริเวณรอบ ๆ ปากทวารหนัก
ฝีคัณฑสูตร หมายถึง ภาวะที่เกิดช่องทะลุ (fistula) ซึ่งเชื่อมต่อจากรูเปิดที่เยื่อบุทวารหนักมายังรูเปิดที่ผิวหนังรอบทวารหนัก ซึ่งมักเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนของฝีรอบทวารหนัก

สาเหตุ
ฝีรอบทวารหนัก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของต่อมทวารหนัก (anal glands) บางครั้งอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของแผลปริที่ปากทวารหนัก หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบบ่อยในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน เอดส์ ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ หรือ เคมีบำบัด) หญิงตั้งครรภ์
ฝีคัณฑสูตร มักเป็นภาวะแทรกซ้อนตามหลังการแตกของฝีในบริเวณทวารหนัก (anorectal abscess) เกิดเป็นแผลชอนทะลุเรื้อรัง นอกจากนี้อาจเป็นผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดบริเวณทวารหนัก หรือการบาดเจ็บของทวารหนัก หรืออาจเกิดจากโรคติดเชื้อ (เช่น วัณโรค เอดส์) หรือ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบบางชนิด
อาการ
ฝีรอบทวารหนัก จะมีอาการปวดตุบ ๆ อย่างต่อเนื่องที่บริเวณรอบทวารหนัก และมีอาการปวดเวลาขับถ่าย หากนั่งทับหรือใช้มือกดถูกจะรู้สึกเจ็บ เมื่อตรวจดูจะพบก้อนฝีลักษณะบวมแดงร้อน กดเจ็บและอาจมีไข้ร่วมด้วย
ฝีคัณฑสูตร อาจมีอาการแบบฝีรอบทวารหนัก เมื่อรักษาหายแล้วกลับกำเริบซ้ำซาก หรือมีอาการหนองไหลเรื้อรังร่วมกับอาการคันและปวดเจ็บรอบทวารหนัก
ภาวะแทรกซ้อน
ฝีรอบทวารหนัก หากปล่อยไว้ ไม่รักษาเชื้ออาจเข้ากระแสเลือด กลายเป็นโลหิตเป็นพิษ มีอันตรายร้ายแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ
นอกจากนี้ หลังจากฝีหายแล้ว อาจเกิดฝีคัณฑสูตรตามมาได้
ฝีคัณฑสูตร หากปล่อยไว้ ไม่แก้ไข มักทำให้เกิดฝีรอบทวารหนักซ้ำซาก
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบรอยโรคที่บริเวณปากทวารหนัก
สำหรับฝีคัณฑสูตร แพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจทวารหนักและใช้เครื่องมือ (fistula probe) ตรวจดูลักษณะของช่องทะลุ ในรายที่พบว่ามีช่องทะลุเข้าไปในบริเวณไส้ตรง (rectum) อาจต้องตรวจหาสาเหตุที่ซ่อนเร้น เช่น มะเร็ง วัณโรค ฝีมะม่วง
ในบางรายอาจจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
ฝีรอบทวารหนัก แพทย์จะให้ยาแก้ปวดลดไข้ ยาปฏิชีวนะ และทำการผ่าระบายหนอง
ในรายที่มีไข้สูง หรือมีภาวะที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เบาหวาน) จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ ให้การรักษาตามสาเหตุ รักษาตามอาการและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ
ฝีคัณฑสูตร แพทย์จะทำการแก้ไขช่องทะลุด้วยการผ่าตัด (fistulotomy) หรือวิธีอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้หายขาด
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น รู้สึกปวดเจ็บที่ก้น ตรวจพบฝีที่ทวารหนัก หรือมีหนองไหลที่บริเวณทวารหนัก เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นฝีรอบทวารหนักหรือฝีคัณฑสูตร ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ
ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
ฝีรอบทวารหนัก ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเต็มที่ อาจลดความเสี่ยงลงด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
- ป้องกันไม่ให้เป็นแผลปริที่ปากทวารหนัก (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของฝีรอบปากทวาร) ด้วยการป้องกันไม่ให้ท้องผูกหรือถ่ายอุจจาระแข็ง
- ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- สำหรับทารกหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ และทำความสะอาดก้นหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม
ฝีคัณฑสูตร ป้องกันโดยการรักษาฝีรอบทวารหนักให้ได้ผลตั้งแต่แรกเริ่ม
ข้อแนะนำ
ผู้ที่เป็นเบาหวานและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรระวังไม่ให้เป็นฝีรอบทวารหนัก ถ้าสงสัยเป็นโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา