
โพแทสเซียม (potassium) เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่งซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งหัวใจและลำไส้ ถ้าหากร่างกายขาดโพแทสเซียม (มีระดับของโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ) ก็จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลำไส้ไม่ทำงาน (ท้องอืดท้องผูก) และหัวใจทำงานผิดปกติ (เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเต้นรัว)
สาเหตุ
1. ที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากการสูญเสียโพแทสเซียมขณะที่มีอาการท้องเดินหรืออาเจียนมาก หรือใช้ยาขับปัสสาวะนาน ๆ ทำให้ขับเอาโพแทสเซียมออกไปกับปัสสาวะมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการกินน้อยไปหรืออดอาหารนาน ๆ
2. ที่พบได้น้อย อาจพบภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำเป็นพัก ๆ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาตครั้งคราว (periodic paralysis) ซึ่งในบ้านเราแบ่งเป็น 3 ประเภท ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- อัมพาตครั้งคราวที่เกิดร่วมกับคอพอกเป็นพิษ พบมากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 20 เท่า มักพบในคนอายุ 20-40 ปี
- อัมพาตครั้งคราวชนิดไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic periodic paralysis) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและมักพบในคนอายุ 20-40 ปีเช่นเดียวกัน
- อัมพาตครั้งคราวที่พบร่วมกับโรคไตบางชนิด
นอกจากนี้ ยังอาจพบอัมพาตครั้งคราวที่เกิดจากกรรมพันธุ์ เรียกว่า อัมพาตครั้งคราวโดยกรรมพันธุ์ (familial periodic paralysis) ซึ่งพบได้น้อยกว่า 3 ประเภทดังกล่าว
อาการ
1. ผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มักจะมีอาการอ่อนเพลีย ท้องอืด ท้องผูก ถ้าเป็นมาก ๆ อาจมีอาการแขนขาอ่อนแรงเดินไม่ได้
2. ผู้ป่วยอัมพาตครั้งคราว มักมีอาการแขนขาอ่อนแรงขณะตื่นนอนตอนเช้า (ตอนเข้านอนในคืนก่อนยังเป็นปกติดี) ขยับเขยื้อนแขนขาไม่ได้ แต่ยังหายใจ พูดและกลืนได้ตามปกติ อาการอ่อนแรงจะเป็นอยู่ประมาณ 6-24 ชั่วโมง อาจนานถึง 3 วันหรือมากกว่า อาการมักจะเกิดตามหลังการพักผ่อนภายหลังจากการออกกำลังมากเกินไป หรือหลังอาหารมื้อหนักโดยเฉพาะอาหารพวกแป้งและน้ำตาล
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้กล้ามเนื้อช่วยหายใจเป็นอัมพาต หยุดหายใจ ตายได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบอาการแขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต
อาจตรวจพบว่า รีเฟล็กซ์ของข้อ (tendon reflex) น้อยกว่าปกติหรือไม่มีปฏิกิริยาเลย
ขณะที่ไม่มีอาการ หรือมีภาวะโพแทสเซียมต่ำเล็กน้อย จะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด
แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพบระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (ค่าปกติ 3.5-5 เอ็มอีคิวต่อเลือด 1 ลิตร)
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าอาการไม่รุนแรง และมีสาเหตุชัดเจน เช่น เกิดจากการกินยาขับปัสสาวะ ก็ให้กินเกลือโพแทสเซียม (เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์) จนกว่าอาการจะดีขึ้น
2. ถ้ามีอาการอัมพาต หรือมีอาการหายใจลำบาก และตรวจพบระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ก็จะให้เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ โดยผสมกับน้ำเกลือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ
3. ในรายที่สงสัยเป็นโรคอัมพาตครั้งคราว จะทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์เพื่อหาสาเหตุ และให้ยารักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
ในรายที่มีสาเหตุจากคอพอกเป็นพิษ จะให้โพรพราโนลอล (propranolol) เพื่อป้องกันมิให้เป็นอัมพาตอีก และเมื่อรักษาโรคคอพอกเป็นพิษให้หายดีแล้ว อาการอัมพาตก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ท้องอืด หรือท้องผูกหลังมีอาการท้องเดินหรืออาเจียนมาก เบื่ออาหาร หรือใช้ยาขับปัสสาวะนาน ๆ หรืออยู่ ๆ มีอาการแขนขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่ามีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรืออัมพาตครั้งคราว ควรดูแลรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
1. ผู้ป่วยที่กินยาขับปัสสาวะเป็นประจำ ควรกินกล้วยหรือส้ม ซึ่งมีโพแทสเซียมให้มาก ๆ ทุกวัน เพื่อป้องกันมิให้ร่างกายขาดโพแทสเซียม หรือให้ยาที่มีเกลือแร่ชนิดนี้กินควบด้วย
2. ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอัมพาตครั้งคราว แพทย์จะให้กินเกลือโพแทสเซียมเป็นประจำ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการซ้ำอีก ผู้ป่วยควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ห้ามหักโหม และควรลดอาหารพวกแป้งและน้ำตาล
ข้อแนะนำ
อาการอัมพาตที่เกิดเป็นครั้งคราว อาจมีสาเหตุได้หลายประการ ผู้ที่เป็นอัมพาตครั้งคราว จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ