สวยแต่เสี่ยง: 4 ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการนั่งไขว่ห้าง
สวยแต่เสี่ยง: 4 ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการนั่งไขว่ห้าง
เชื่อว่าการนั่งไขว่ห้างเป็นท่านั่งประจำของใครหลายคน นอกจากจะเป็นท่าที่นั่งแล้วรู้สึกสบาย รู้สึกผ่อนคลาย ยังเป็นท่าที่เสริมบุคลิกให้ดูมั่นใจและสมาร์ทขึ้นอีกด้วย แต่ใครจะรู้บ้างว่าท่านั่งไขว่ห้างนี้มีผลเสียต่อสุขภาพของเรามากกว่าที่คิด
4 ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการนั่งไขว่ห้าง
การนั่งไขว่ห้างนั้นเสี่ยงเกิดอาการหรือโรคอะไรบ้าง อย่างแรกที่จะเกิดก่อนคือ อาการปวดเมื่อย การนั่งไขว้ขานั้นร่างกายของเราจะอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นท่านั่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยสะโพกจะเทน้ำหนักลงไปที่ก้นข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าการนั่งแบบปกติ ถึงจะนั่งไม่นานแต่เมื่อเส้นเลือดและเส้นประสาทบริเวณต้นขาถูกกดทับทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก การทำงานของหัวใจจะหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยง จึงส่งผลให้เกิดอาการขาชา หรือปวดเมื่อยบริเวณต้นขาได้ บางคนอาจจะรู้สึกว่าต้นขาใหญ่ขึ้น นั่นก็เพราะเกิดไขมันสะสมที่บริเวณต้นขา จากการที่เส้นเลือดบริเวณต้นขาถูกกดทับ จึงทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกนั่นเอง
และถ้าหากคุณเป็นคนที่มักจะปวดหลังอยู่บ่อยๆ แล้ว การนั่งไขว้ขาแบบนี้จะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดหลังมากขึ้น เนื่องจากลำตัวเอียงเสียสมดุล นอกจากนี้ การที่ร่างกายจะต้องถ่ายน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นเวลานานเข้า กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังจะเกิดความไม่สมดุล กระดูกสันหลังก็อาจเกิดการคด เสี่ยงโรคกระดูกสันหลังคด หรือโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมหรืออักเสบได้อีกด้วย
อาจเกิดภาวะข้อเท้าตก (Foot Drop) คือมีอาการยกเท้าหรือกระดกข้อเท้าไม่ได้ รู้สึกอ่อนแรง เวลาเดินต้องงอสะโพกมากขึ้น ซึ่งภาวะข้อเท้าตกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบชั่วคราว เจ็บแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วหายไปเองได้ แต่ถ้าเรายังไม่ปรับเปลี่ยนความเคยชิน ยังนั่งไขว่ห้างนานๆ เป็นประจำ เส้นประสาทจะถูกกดทับรุนแรงขึ้น ก็จะมีอาการชาและอ่อนแรงมาก จนอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และจากปลายเท้าที่ตกนั้นอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
สุดท้ายที่อาจเกิดจากการนั่งไขว่ห้างคือ ความดันโลหิตสูง เมื่อเรานั่งกดทับช่วงเข่าเป็นเวลานาน ซึ่งบริเวณด้านหลังของเข่านั้นมีเส้นเลือดใหญ่ จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ ถึงแม้ค่าความดันโลหิตจะไม่ได้สูงจนทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด จนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดได้ ไม่เพียงเท่านั้นอาจทำให้การตรวจวัดความดัน การตรวจสุขภาพหรือโรคต่างๆ เกิดความผิดพลาด อาจนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่คลาดเคลื่อน
อาการเตือนจากการนั่งไขว่ห้าง! ถึงเวลาต้องไปพบแพทย์
1. ปวดหลังไม่หายภายใน 1-2 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและหาสาเหตุของอาการปวดว่ามาจากสาเหตุใดบ้าง
2. ชาร่วมกับอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา ข้อเท้าอ่อนแรง เดินสะดุด กระดกข้อเท้าไม่ได้ หรือมีอาการชาที่หน้าแข้ง หลังเท้า ซึ่งแสดงถึงภาวะเส้นประสาทถูกกดทับ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรักษาอาการเหล่านี้
ฝึกนั่งให้ถูกวิธี เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
- ควรปรับเปลี่ยนท่านั่งทุกครึ่งชั่วโมง ไม่ว่าจะนั่งด้วยท่าใด ก็ไม่ควรนั่งติดต่อกันด้วยท่านั้นนานๆ และควรลุกเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายบ้าง
- เลี่ยงการนั่งไขว่ห้างหรือไขว้ขา เนื่องจากไม่ใช่ท่านั่งที่ถูกต้อง หากเลี่ยงไม่ได้ ควรสลับข้างทุกๆ ครึ่งชั่วโมง เพื่อไม่ให้ขาถูกกดทับจนเสียสมดุลเป็นเวลานาน ลดความเสี่ยงในการเกิดเส้นประสาทถูกกดทับได้บ้าง
- นั่งโดยใช้ท่ายืดขาแล้วไขว้กัน แทนการนั่งไขว่ห้าง ซึ่งเป็นท่าที่ทำให้สะโพกเสียสมดุลน้อยกว่า
- ออกกำลังกายสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ โดยทำกายบริหารท่าต่างๆ เช่น ท่าซิทอัพ หรือท่าแพลงก์ ยืดกล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว เมื่อกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นแข็งแรง ก็จะลดอาการจากการนั่งไขว่ห้างไปได้มาก
หากเราต้องนั่งเป็นเวลานานๆ ในแต่ละวัน ทั้งนั่งทำงาน นั่งเรียน นั่งอยู่บนรถเวลาเดินทาง การจัดท่านั่งให้ถูกต้องและเหมาะสม เป็นคำตอบสุดท้ายที่จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอาการและโรคจากการนั่งผิดท่าได้ เมื่อปลอดโรคและอาการเจ็บป่วย เราก็จะสามารถใช้ชีวิตประจำวัน และทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีความสุข
หากคุณกังวลเรื่องสุขภาพ ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยโปรแกรม "Smart Doctor" โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home
ข้อมูลล่าสุด : 7 ก.ค. 2567