1 คนให้ 3 คนรอด “บริจาคเลือด” ช่วยใครได้บ้าง?
1 คนให้ 3 คนรอด “บริจาคเลือด” ช่วยใครได้บ้าง?
ในซีรีส์เราคงเคยเห็นการให้เลือดเพื่อช่วยชีวิตตัวละครกันมาบ้าง แต่จริง ๆ แล้วเลือด 1 ถุงยังทำได้มากกว่านั้น สามารถช่วยชีวิตคนได้อย่างน้อยถึง 3 ชีวิต เพราะเลือดที่ได้จากการบริจาค จะถูกนำไปปั่นแยกส่วนประกอบเป็นเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และพลาสมา เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุด Doctor at Home ขออาสาพาไปสำรวจห้องปฏิบัติการคลังเลือด ให้รู้ว่าเลือด 1 ถุงช่วยเหลือใครได้บ้าง
เม็ดเลือดแดง (Red blood cell) - ช่วยเหลือผู้เสียเลือดเฉียบพลัน
หน้าที่หลักของเม็ดเลือดแดงคือคอยลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องคงปริมาณของเม็ดเลือดแดงเอาไว้เสมอ เม็ดเลือดแดงที่ปั่นแยกออกมาจะถูกนำไปใช้ในคนที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลงหรือผิดปกติ เช่น ภาวะเสียเลือดจากอุบัติเหตุ ผ่าตัดใหญ่ คลอดบุตร ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย โลหิตจาง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีการสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง เป็นต้น
เกล็ดเลือด (Blood platelet) - ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เกล็ดเลือดลดลง
เพราะเกล็ดเลือดช่วยในการแข็งตัวของเลือดทำให้เลือดหยุดไหลได้ เกล็ดเลือดจากเลือดที่เราบริจาคจึงถูกนำไปช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเลือดออกผิดปกติ หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น
พลาสมา (Plasma) - ผลิตภัณฑ์โลหิตจากพลาสมา
พลาสมาใช้สำหรับคนที่ช็อกจากการขาดน้ำ และถูกนำไปใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตจากพลาสมา เช่น อัลบูมิน (Albumin) สำหรับรักษาผู้ที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก, อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจากภาวะต่าง ๆ อย่างไวรัสตับอักเสบ หรือโรคพิษสุนัขบ้า, FACTOR VII สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก
สรุป
การบริจาคโลหิตใช้ระยะเวลาบริจาคสั้น ๆ ประมาณ 10-20 นาทีเท่านั้น และร่างกายของเราสามารถสร้างเลือดทดแทนได้อย่างรวดเร็ว หากใครสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อายุระหว่าง 17-60 ปี น้ำหนักไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัม เราอยากชวนให้ลองเปิดใจสักครั้ง เพราะมีคนที่ต้องการเลือดทุกวินาที อีกข้อดีของการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอคือ ช่วยให้มีเลือดสำรองตลอดเวลา สามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน สูงสุด 4 ครั้ง ภายใน 1 ปี ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ศูนย์รับบริจาคเลือดเคลื่อนที่ และธนาคารเลือดของโรงพยาบาลต่าง ๆ
Smart Doctor ตัวช่วยดูแลสุขภาพ คุณสามารถเช็กอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home
ข้อมูลล่าสุด : 7 ก.ค. 2567