หมูกระทะ VS ชาบู กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

หมูกระทะ VS ชาบู กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

 

ว่ากันว่า ชาบู หมูกระทะ จะเยียวยาทุกสิ่ง แต่กินแล้วอย่าลืมใส่ใจสุขภาพสักนิด แม้ว่าอาหารทั้งสองประเภทมักจะมาในรูปแบบบุฟเฟต์ แต่เราไม่ควรนึกถึงแค่ความคุ้มเงิน เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ Doctor at Home ชวนนั่งหน้าเตาหมูกระทะและชาบู ดูว่าควรเลือกรับประทานอย่างไรเพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และไม่ทำร้ายสุขภาพ

 

หมูกระทะ

 

1. ย่างให้สุกแต่พอดี 
กลิ่นหอม ๆ ของเมนูปิ้งย่างช่วยให้เจริญอาหาร แต่สิ่งที่ควรระวังคือย่างให้สุกพอดี เพราะการรับประทานเนื้อสัตว์ที่สุก ๆ ดิบ ๆ อาจมีไข่พยาธิแฝงอยู่ หรือมีความเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นไข้หูดับได้ แต่หากสุกจนไหม้เกรียมเกินไป จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงและมะเร็ง

 

2. เลี่ยงการซดน้ำซุป
ในน้ำซุปที่มักจะประกอบไปด้วยผงปรุงรส เกลือ น้ำปลา ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งรวมโซเดียม รวมถึงเนื้อสัตว์ในร้านหมูกระทะเองก็มักจะถูกหมักด้วยเครื่องปรุงรสที่เต็มไปด้วยโซเดียมเช่นกัน หากเราเลี่ยงการซดน้ำซุปได้ จะช่วยลดโซเดียมต่อมื้อ ที่ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ เมื่อกินเกินความต้องการของร่างกายเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงโรคไต ความดันโลหิต หัวใจและหลอดเลือด
 

3. เพิ่มผักบนเตา
แม้ว่าหมูกระทะส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของบุฟเฟต์ แต่นอกจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ แล้ว เราควรเพิ่มผักสด เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ฟักทอง เพื่อเสริมเส้นใยอาหารในมื้อ ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น เพราะหากรับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไปอาจทำให้ย่อยยาก เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน 
 

4. จิ้มน้ำจิ้มแต่น้อย
สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยคือน้ำจิ้ม ควรจิ้มน้ำจิ้มแต่น้อย เพราะน้ำจิ้ม 1 ถ้วย มีปริมาณโซเดียมสูงราว ๆ 900-1,000 มิลลิกรัม อาจเติมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางน้ำจิ้ม หรือจิ้มเพียงนิดเดียวและไม่ปรุงรสน้ำจิ้มเพิ่ม
 

5. แยกตะเกียบ
ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบของสดร่วมกับตะเกียบที่ใช้คีบอาหารเข้าปาก เพื่อเลี่ยงอาการท้องเสียซึ่งอาจเกิดจากตะเกียบที่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ ในเนื้อดิบ รวมถึงความเสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับอีกด้วย
 

6. เลี่ยงสูดดมควันจากเตาปิ้งย่างเป็นเวลานาน ๆ
แม้ว่ากลิ่นหอม ๆ จากเตาปิ้งย่างจะชวนหิวแค่ไหน แต่ก็ไม่ควรสูดดมควันเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารปิ้งย่างในพื้นที่ปิด ลองเลือกร้านหมูกระทะที่มีท่อดูดควัน หรือรับประทานในพื้นที่โล่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และเลือกนั่งคนละฝั่งกับทิศทางของควัน
 

ชาบู

 

1. ซดน้ำซุปแต่น้อย 
แม้ว่าการต้มจะลดความเสี่ยงเกิดมะเร็งจากเนื้อสัตว์ที่ไหม้เกรียมจนเกินไป แต่น้ำซุปต่าง ๆ ในชาบูมักเต็มไปด้วยโซเดียม จึงควรเลี่ยงซดน้ำซุปหรือซดให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป โดยน้ำซุปจะมีโซเดียมประมาณ 2,915 กรัม ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละร้าน 
 

2. ไม่เทน้ำจิ้มลงในซุปและไม่ปรุงเพิ่ม
น้ำจิ้มสุกี้ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียมประมาณ 280 มิลลิกรัม และในน้ำซุปมักจะมีส่วนผสมของเกลือ กระดูกหมู น้ำปลา หรือผงปรุงรสสำเร็จรูป ซึ่งมีโซเดียมมากอยู่แล้ว  จึงไม่ควรเติมน้ำจิ้มใด ๆ ลงเพิ่มลงในซุป เพราะอาจได้รับโซเดียมมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งปริมาณโซเดียมที่แนะนำในผู้ใหญ่คือไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา นอกจากนี้ อาหารธรรมชาติอย่างเนื้อสัตว์ ผักบางชนิด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปอย่างไส้กรอก ลูกชิ้น ต่างก็เต็มไปด้วยโซเดียมที่อาจส่งผลเสียต่อไตได้ 
 

3. เลี่ยงซุปที่มีน้ำมัน 
น้ำซุปชาบูมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกรับประทาน น้ำซุปบางชนิดอาจมีน้ำมันผสมอยู่ในปริมาณมาก ควรเลือกน้ำซุปแบบใสที่มีไขมันน้อยจะดีที่สุด
 

4. เติมผักสด อย่าให้ขาด
ร้านชาบูมักมีวัตถุดิบให้เราเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผักสด ไข่ เส้นต่าง ๆ หรือผลไม้ปิดท้าย ผักสดเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะช่วยเพิ่มใยอาหาร ย่อยง่าย แถมยังเพิ่มความกลมกล่อมอีกด้วย ควรเลือกวัตถุดิบให้สมดุล ไม่รับประทานอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป 
 

5. ต้มเนื้อสัตว์ให้สุก
ควรต้มส่วนผสมต่าง ๆ ให้สุกดี เพราะการรับประทานอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ อาจได้รับไข่พยาธิ และทำให้เกิดโรคจากพยาธิได้ ยังไม่รวมถึงแบคทีเรีย และความเสี่ยงโรคต่าง ๆ เช่น อาหารเป็นพิษ ไข้หูดับ เป็นต้น
 

สรุป


ไม่ว่าจะทีมหมูกระทะหรือชาบู ชอบแบบไหนก็ลิ้มรสอร่อยและดีต่อสุขภาพได้ หากเลือกรับประทานอย่างสมดุล เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลาย เลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ หรือไหม้เกรียมจนเกินไป จิ้มน้ำจิ้มแต่น้อย ลดการซดน้ำซุป รวมถึงเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลม และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
 

เพิ่มความอุ่นใจเรื่องสุขภาพ ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 7 ก.ค. 2567