กรณีการเสียชีวิตของ “เบียร์ สรณัฐ” จากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน โดยไม่มีสัญญาณเตือน
กรณีการเสียชีวิตของ “เบียร์ สรณัฐ” จากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน โดยไม่มีสัญญาณเตือน
“เบียร์ สรณัฐ มัสยวาณิช” อดีตนักแสดงซิทคอมดัง นักดนตรีและโปรดิวเซอร์เพลง ค่าย Summer Sun Records และเป็นน้องชายของ “ฟลุค เกริกพล มัสยวาณิช” และ “พั้นช์ ชนมาศ มัสยวาณิช” ได้จากไปอย่างกะทันหัน โดยผลนิติเวชได้ระบุว่ามีสาเหตุมาจากอาการหัวใจวายเฉียบพลันและสมองขาดออกซิเจน
การจากไปของ “เบียร์ สรณัฐ” ได้สร้างความเสียใจและความตกใจให้กับคนในครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากครอบครัวเห็นว่าไม่ได้มีสัญญาณความผิดปกติใด ๆ มาก่อน โดยที่ผ่านมา “เบียร์ สรณัฐ” ป่วยด้วยโรคความดันสูงแต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ว่าจะไปเที่ยว เต้น และพบปะญาติพี่น้องด้วยความร่าเริง รวมถึงกำลังเริ่มดูแลรักษาสุขภาพโดยการเลิกดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย โดยก่อนเกิดเหตุ “เบียร์ สรณัฐ” เพียงบอกกับแฟนสาวว่ารู้สึกเหนื่อยจึงนอนพักก่อนจากไปอย่างสงบในวัย 39 ปี
ทั้งนี้ นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว ข้อมูลที่ปรากฏในข่าวนั้น ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องประวัติสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มเติมของ “เบียร์ สรณัฐ” ดังนั้นในบทความนี้ Doctor at Home ขอกล่าวถึง 1. สาเหตุทั่วไปของภาวะหัวใจวาย 2. โรคความดันโลหิตสูงกับภาวะหัวใจวาย เพื่อทำความเข้าใจถึงอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือน การป้องกันและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
1. สาเหตุทั่วไปของภาวะหัวใจวาย
ภาวะหัวใจวายมีสาเหตุได้หลายประการ ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวายที่พบได้บ่อยที่สุด
- ความดันโลหิตสูง หากปล่อยให้เป็นอยู่นาน ๆ ทำให้หัวใจทำงานหนัก จนกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการสูบฉีดเลือด
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด รวมทั้งไวรัสโควิด-19 ทำให้หัวใจห้องซ้ายวาย
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น หัวใจเต้นช้าเกินหรือเร็วเกิน หรือเต้นระรัวไม่เป็นจังหวะ ภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว (เช่น โรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจรูมาติก) หรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart diseases มีภาวะผนังหัวใจหรือลิ้นหัวใจผิดปกติ) เป็นเหตุให้หัวใจทำงานหนัก และหัวใจวายได้
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจมีความหนาตัวแต่อ่อนแอลง ทำให้หัวใจวาย โรคนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์จัด การเสพสารโคเคนเป็นเวลานาน เบาหวาน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินหรือน้อยเกิน เป็นต้น
- เคมีบำบัดและรังสีบำบัดรักษามะเร็ง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยารักษาโรคเบาหวาน-ไพโอกลิทาโซน (pioglitazone), ยารัษามาลาเรีย-คลอโรควีน (chloroquine), ยาต้านเชื้อรา-ไอทราโคนาโซล (itraconazole) เป็นต้น
- อื่น ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์จัด การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำหนักเกิน เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (คอพอกเป็นพิษ) หรือต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (ภาวะขาดไทรอยด์) ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง) โรคหืด โลหิตจาง โรคเหน็บชา การติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดความผิดปกติทางโครงสร้าง (หลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ) และการทำงานของหัวใจ (หัวใจทำงานหนัก สูบฉีดเลือดไม่ได้หรือได้น้อยลง) ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย
ดังนั้น การป้องกันการเกิดภาวะหัวใจวายจึงควรป้องกันหรือรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
2. ความดันโลหิตสูงกับภาวะหัวใจวาย
ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่นาน ๆ นั้น จะทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ไต ประสาทตา เป็นต้น เนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงแทบทุกส่วนของร่างกายเสื่อม เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่ได้ อาจทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบกลายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บหน้าอก ถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และยังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน จะทำให้หัวใจทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวขึ้น ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการสูบฉีดเลือด ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษานั้นมีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวายถึง 60-75% นอกจากนี้ ก็อาจมีโอกาสเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือแตก 20-30% และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5-10%
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจึงควรรักษาและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายอื่น ๆ ถึงชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยการลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติหรือน้อยกว่า 140/90 มม.ปรอท ช่วยลดการเกิดอัมพาตได้ 35-40% หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายลดลง 20-25% และการเกิดหัวใจวายลดลง 50%
3. สัญญาณเตือนภาวะหัวใจวาย
ในกรณีการเสียชีวิตของ “เบียร์ สรณัฐ” นั้น ไม่มีข้อมูลทางสุขภาพอื่น ๆ ที่สามารถระบุสาเหตุของการทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้อย่างชัดเจน นอกจากประวัติการป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากเป็นการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้มีความดันโลหิตสูงอยู่นานก็อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ ทั้งนี้ อาการเหนื่อยก็เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการหอบหรือหายใจลำบาก แน่นอึดอัดในอก หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศหายใจ อ่อนล้ามาก บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เท้าบวม ไอหรือหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่นหรือใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มือเท้าเย็น ริมฝีปากเขียว เป็นลม หมดสติ เป็นต้น
ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจวายได้
Doctor at Home ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของ “เบียร์ สรณัฐ มัสยวาณิช” ผู้ที่เคยสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนในบทบาทของ เล้ง จากซิทคอมเรื่อง เฮง เฮง เฮง และนักดนตรี โปรดิวเซอร์เพลงผู้มากความสามารถ
ทั้งนี้ สามารถอ่านข้อมูล โรคความดันโลหิตสูง และ ภาวะหัวใจวาย เพิ่มเติมได้ และหากมีอาการ หอบ เหนื่อยง่าย, ใจสั่น, ซีด โลหิตจาง อย่าชะล่าใจ รีบตรวจอาการด้วยตัวเองว่าอาจเป็นสัญญาณของ ภาวะหัวใจวาย หรือไม่ ตรวจอาการได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home
ข้อมูลล่าสุด : 8 ก.ค. 2567