‘คู่มือตรวจโรคเบื้องต้น’ Doctor at Home ใช้ AI คัดกรองปัญหาสุขภาพ ส่งเสริมดูแลตัวเองเมื่อเจ็บป่วย-ลดภาระ รพ.

หนึ่งในการลดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล คือการสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน ให้ได้รู้ถึงการดูแลตัวเองเบื้องต้นหากเจ็บป่วย รู้ว่าอาการแบบไหนต้องไปโรงพยาบาล และรู้ว่าอาการแค่ไหนที่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งองค์ความรู้ของประชาชนด้านสุขภาพ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยตอบโจทย์กับปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล 

 

การส่งเสริมให้ประชาชนมีองค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องพิจารณาถึงการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่ต้องง่าย และทำความเข้าใจในเนื้อหาได้ไม่ยาก ดังนั้น จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลตำราด้านสุขภาพ ให้เป็นชุดความรู้สุขภาพพื้นฐานสำหรับประชาชน หรือแม้แต่บุคลากรแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลได้ใช้ข้อมูลในการดูแลสุขภาพสำหรับคนใชุมชน

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีตำราการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น โดยมีบุคลากรอาจารย์แพทย์คนสำคัญอย่าง รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ อดีตอาจารย์แพทย์ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเขียนตำราที่ชื่อว่า 'คู่มือการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นและการส่งต่อผู้ป่วย' ซึ่งตำราคู่มือเล่มนี้ กำลังถูกพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เรียกว่า ‘Doctor at Home’ ซึ่งมีทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันไลน์ ที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ การตรวจโรคเบื้องต้น การสอบถามอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ด้วยการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้ไปถึงประชาชนมากขึ้น

 

รศ.นพ.สุรเกียรติ บอกเล่าว่า ได้เขียนตำราการตรวจโรคเบื้องต้นที่พบได้บ่อยในช่วงปี 2515-2520 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มรณรงค์ให้กับชาวบ้านในชุมชนมีความรู้ด้านสุขภาพ และรู้ถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับสุขภาพของประชาชน 

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อนามัย หรือผู้ที่คอยให้บริการสาธารณสุขพื้นฐานกับประชาชนในชุมชนยังมีองค์ความรู้ไม่พอ จึงตัดสินใจเขียนตำราการตรวจโรคเบื้องต้นขึ้นมาเมื่อปี 2519 ซึ่งมีชื่อว่า คู่มือการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นและการส่งต่อผู้ป่วย

 

นพ.สุรเกียรติ กล่าวอีกว่า ได้เขียนตำรานี้โดยยึดหลักการที่เรียกว่า 'ระบบสุขภาพ 3 ขา' โดยขาที่หนึ่งคือ ระบบโรงพยาบาล ที่บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ขาที่สองคือ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่จะเชื่อมกับขาที่สาม คือ ระบบดูแลตัวเอง ซึ่งขาที่สองและสาม จะเป็นระบบที่สำคัญในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น หรือเมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้นก็มีความรู้ในการดูแลตัวเองได้ หรือดูแลประชาชนในชุมชนได้ หากอาการ หรือโรคนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบของโรงพยาบาล ซึ่งก็ทำให้ตำราเล่มนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ 

 

คู่มือการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นและการส่งต่อผู้ป่วย ที่ นพ.สุรเกียรติ เขียนเอาไว้ แม้ว่าจะสมบูรณ์และมีการอัปเดต แต่กระนั้นการที่เป็นคู่มือตำราเล่มหนาเตอะนับพันหน้า อาจจะทำให้ยากต่อการค้นหาข้อมูล 

 

ภาคเอกชนอย่าง Doctor at Home เห็นความท้าทายในเรื่องนี้ และมองเห็นความสำคัญขององค์ความรู้ที่ นพ.สุรเกียรติ ได้เขียนเอาไว้ จึงพัฒนาต่อยอดโดยใช้เทคโนโลยี รวบรวมเอาข้อมูลที่อยู่ในตำราเล่มหนา มาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้เกิดการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น และง่ายมากขึ้นด้วย

 

ฟีเจอร์สำคัญคือจะมีโปรแกรมแชตสอบถามและตอบคำถามอาการเบื้องต้นจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลสุขภาพที่ดูแลตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลตัวเอง 

 

“คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ก็ใช้งานได้ง่าย เพราะหากใช้งานไลน์ได้ตามปกติ ก็ใช้งาน Doctor at Home ได้เช่นกัน เพราะเป็นระบบที่สร้างเพื่อให้ดูแลตัวเองได้เมื่อเจ็บป่วย และรู้ว่าจะต้องไปพบแพทย์ตอนไหน หรือต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้หายดี” 

 

ทวี ขยายความด้วยว่า Doctor at Home ยังเป็นประโยชน์กับบุคลากรการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล อาจไม่มีแพทย์ประจำ ได้ใช้โปรแกรม Doctor at Home สอบถามอาการเจ็บป่วยเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะกับหน่วยบริการในพื้นที่ห่างไกล เมื่อมีคำถามหรืออาการเจ็บป่วยจากชาวบ้าน ก็สามารถเข้ามาหาข้อมูลใน Doctor at Home ได้ทันที ซึ่งอีกส่วนหนึ่งก็ยังเป็นการลดภาระของแพทย์ที่ต้องออกตรวจในพื้นที่ห่างไกลได้ด้วยเช่นกัน 

 

ทวี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ Doctor at Home กำลังพัฒนาระบบให้สมบูรณ์มากที่สุด แต่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้งานในระบบได้ ซึ่งสามารถใช้ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยเพิ่มเพื่อน @Doctorathome ซึ่งสามารถแชตสอบถามกับระบบ AI ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดึงข้อมูลสุขภาพในระบบมาสู่ผู้ใช้บริการอย่างถูกต้อง 

 

“ในอนาคต ก็ยังมีความสนใจในการให้บริการการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ในการเสริมบริการสุขภาพให้กับประชาชน” ผู้ร่วมก่อตั้ง Doctor at Home กล่าว

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมองเห็นประโยชน์ของ Doctor at Home ที่จะสนับสนุนการดูแลสุขภาพของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาท) ระบุว่า สปสช. ต้องการนำบริการไปหากลุ่มเป้าหมาย ฉะนั้นจึงมีการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามาร่วมจัดบริการ เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาที่ร้านยา หรือเจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มโรค พบหมอออนไลน์จัดส่งยาถึงบ้าน ซึ่งขณะนี้นำร่องที่กรุงเทพฯ ก่อน เป็นต้น

 

สำหรับกรณีการเจ็บป่วยนั้น หากป่วยถึงขั้นต้องไปโรงพยาบาลก็ต้องไปทันที แต่หากมีอาการเล็กน้อย สามารถทำการประเมินด้วยตนเอง โดย สปสช. ทำงานร่วมกันกับ รศ.นพ.สุรเกียรติ ที่เขียนตำราตรวจโรคเบื้องต้น ซึ่งมีการอัปเดตทุกปี และพัฒนาตำราเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ในไลน์ของ Doctor at Home ซึ่ง สปสช. ได้นำข้อมูลและความรู้ด้านการตรวจสุขภาพเบื้องต้น มาอยู่ในไลน์ OA ของ สปสช.ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เพื่อนสมาชิกไลน์ของ สปสช.กว่า 7 ล้านคน สามารถใช้โปรแกรมนี้สอบถามอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นกับระบบ AI 

 

“ระบบ AI ของ Doctor at Home มีหลายโรคและอาการเจ็บป่วยที่เป็นข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสอบถามผ่านระบบได้ โดยระบบจะถามผู้ใช้บริการทีละขั้น และคัดกรองอาการที่อันตรายออกก่อน หากข้อมูลระบุว่าต้องไปโรงพยาบาล ระบบจะแนะนำทันทีว่าต้องไป แต่หากเป็นอาการเล็กน้อย ระบบก็จะบอกคำแนะนำในการดูแลตัวเอง ซึ่งระบบจะไม่สอบถามข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการเด็ดขาดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ” ทพ.อรรถพร กล่าว 

 

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวด้วยว่า การดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด คือการดูแลตัวเองได้ คัดกรองสุขภาพของตัวเองในเบื้องตั้นได้ ซึ่งจะช่วยให้ระบบสุขภาพโดยรวมดีขึ้นโดยอัตโนมัติ จะลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการรอคอยที่จะพบแพทย์ รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนจากบุคลากรแพทย์ดีขึ้นด้วย

ข้อมูลล่าสุด : 7 ก.ค. 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)