วิ่งแก้ซึมเศร้า การรักษาแนวใหม่ที่น่าสนใจ
วิ่งแก้ซึมเศร้า การรักษาแนวใหม่ที่น่าสนใจ
เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรักษา ‘โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)’ ก็เช่นกัน สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อยา หรือไม่เต็มใจจะรับยารักษาโรคซึมเศร้า นักวิจัยอัมสเตอร์ดัมได้เสนอวิธีที่อาจช่วยเยียวยาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลได้เทียบเท่ากับยาต้านเศร้า นั่นคือ ‘การวิ่ง’ มาดูกันว่าการวิ่งมีประสิทธิภาพอย่างไร และสามารถช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้จริงหรือไม่
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในไทย
ทุก ๆ ชั่วโมงมีผู้ป่วย ‘โรคซึมเศร้า’ ที่พยายามฆ่าตัวตายถึง 6 คน หรือมากกว่าห้าหมื่นคนต่อปี และเสียชีวิตราว 4,000 คน เมื่อปี 2564 พบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้าในไทย ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปมากถึง 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 1-2 เปอร์เซ็นต์
โรคซึมเศร้าและการวิ่ง
นักวิจัยศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยวิธีใช้ยาและวิ่งออกกำลังกาย โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยซึมเศร้าและวิตกกังวล 141 คน แบ่งกลุ่มให้ผู้ป่วยกลุ่มแรกกินยาต้านเศร้า (escitalopram) และผู้ป่วยกลุ่มที่สองวิ่งออกกำลังกายโดยมีผู้ดูแลครั้งละ 45 นาที ทุก 2-3 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ โดยให้ผู้ป่วยเลือกวิธีการเอง ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงกว่าจะสมัครใจเลือกรับยา พบว่าผู้ป่วย 44 เปอร์เซ็นต์จากทั้งสองกลุ่มมีอาการดีขึ้น
อาจเป็นการแสดงให้เราเห็นว่ายาต้านเศร้าและการวิ่งช่วยเยียวยาผู้ป่วยซึมเศร้าที่อาการไม่รุนแรงได้ไม่ต่างกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยซึมเศร้ากลุ่มที่ใช้วิธีการวิ่งมีน้ำหนักตัวและรอบเอวลดลง ส่งผลดีต่อระดับความดันโลหิตและหัวใจ มีผลข้างเคียงน้อยกว่าและสุขภาพแข็งแรงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่าการวิ่งอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยซึมเศร้าทุกคน เพราะความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน
โรคซึมเศร้าและยารักษา
แน่นอนว่ายาต้านเศร้ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวิธีรักษาที่ถูกต้องสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า หากผู้ป่วยสามารถกินยาตามแพทย์สั่งควบคู่ไปกับการวิ่งออกกำลังกายก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยให้อาการดีขึ้นได้มากกว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น
โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง ที่มีความรู้สึกสิ้นหวัง หดหู่ มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ วิธีบำบัดอย่างการวิ่งออกกำลังกายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ผู้ป่วยควรได้รับยารักษาและการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
สรุป
การวิ่งอาจทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าบางคนรู้สึกดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ หรือบางคนอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน กุญแจสำคัญคือความสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี ไม่มีการรักษาแบบใดแบบหนึ่งที่ใช้ได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย และขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย แต่การวิ่งออกกำลังกายก็ถือเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการรักษาโรคซึมเศร้า
หากใครกำลังรู้สึกเศร้า หดหู่ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ
อ่านข้อมูลโรค โรคซึมเศร้า เพิ่มเติม
คุณสามารถตรวจอาการ นอนไม่หลับ, ปวดศีรษะ, เบื่ออาหาร ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home
ข้อมูลล่าสุด : 27 ส.ค. 2567