ปัจจัยบ่มเพาะ 'เด็กเลว' : 'เลว' มาแต่เกิดหรือมีปัจจัยส่งเสริม?

ปัจจัยบ่มเพาะ 'เด็กเลว' : 'เลว' มาแต่เกิดหรือมีปัจจัยส่งเสริม?

 

หลายคนในสังคมกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับข่าวการฆาตกรรม 'ป้าบัวผัน ตันสุ' อายุ 47 ปี หรือ 'ป้ากบ' เหยื่อที่เป็นบุคคลในกลุ่มเปราะบางด้วยเป็นผู้พิการทางสติปัญญาระดับ 5 ที่ไร้ทางสู้ ต้องมาเสียชีวิตอย่างทรมานด้วยน้ำมือของกลุ่มฆาตกรเด็กและเยาวชน 5 คน อายุระหว่าง 13-16 ปี ที่เป็นสมาชิกในแก๊งวัยรุ่นแก๊งหนึ่งในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เด็กและเยาวชน 5 คนนี้ได้กระทำการทำร้ายและฆ่า 'ป้ากบ' ด้วยการกระทำที่ทารุณ โหดร้าย รุนแรง เลือดเย็น อย่างไร้ความยำเกรงต่อกฎหมาย ไร้ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี "เกินกว่าการกระทำของเด็ก" และแก๊งเด็กเหล่านี้ทำตัวราวกับเป็น 'องค์กรอาชญากรรมจากนรก' นอกจากกรณีของ 'ป้ากบ' แล้ว แก๊งนี้ยังมีวีรกรรมชั่วร้ายอื่น ๆ อีกมากมายทั้งเรื่องข่มขืน ทำอนาจาร ทำร้ายร่างกาย ฆาตกรรม ลักทรัพย์ วางเพลิง ข่มขู่ ฯลฯ ซึ่งผู้เสียหายกำลังทยอยออกมาให้ข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง

 

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจ หดหู่ เจ็บปวด และโกรธแค้นให้กับหลาย ๆ คนในสังคมในวงกว้าง จนมีการตั้งคำถามในหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ ก็ยังมีการถกเถียงเรื่องกฎหมายที่ปกป้องสิทธิของเด็ก (อายุ 12 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี) ที่ระบุให้เด็กไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายแม้ถูกตัดสินโดยศาลว่ากระทำผิด แต่มีมาตรการอื่นที่จะจัดการกับเด็กแทนการรับโทษ ซึ่งก็มีการถกเถียงกันว่าควรจะมีการแก้ไขให้อนุญาตให้ในบางกรณีที่เป็นคดีอาญาที่อุกอาจร้ายแรง ให้เด็กและเยาวชนสามารถถูกพิจารณาให้ดำเนินคดีแบบผู้ใหญ่ได้ โดยให้ดูจากการกระทำของเด็กมาพิจารณาด้วยเป็นกรณีไป ไม่ได้ใช้แค่หลักอายุในการดำเนินคดีเท่านั้น ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศก็อนุญาตให้สามารถทำได้ในเด็ก เช่น สหรัฐอเมริกา (หลายรัฐกำหนดอายุเด็กตั้งแต่ 13 ปี ขึ้นไป และบางรัฐก็ไม่มีการกำหนดอายุ สามารถให้เด็กอายุกี่ขวบก็ได้ ให้ถูกดำเนินคดีแบบผู้ใหญ่หากเป็นการกระทำที่อุกอาจร้ายแรง เช่น คดีฆาตกรรม) อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ขณะที่สหรัฐอเมริกายังไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญานี้ การแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ของไทยจึงต้องคำนึงถึงบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กด้วย 

 

จริง ๆ แล้วประเทศไทยก็มีการอนุญาตให้ดำเนินคดีเด็กในบางกรณีแบบผู้ใหญ่ได้ตามกฎหมายปัจจุบันของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว มาตรา 97 วรรค 2 โดยให้ศาลเยาวชนฯ พิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าในขณะกระทำความผิด หรือระหว่างการพิจารณาคดีบุคคลดังกล่าวมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทั้งนี้ กฎหมายมิได้กำหนดว่าเรื่องใดบ้างที่เด็กกระทำการสามารถใช้มาตรานี้ได้บ้าง ซึ่งยังต่างกับกฎหมายในหลายประเทศ โดยให้เป็นอำนาจของศาลเยาวชนฯ ในการพิจารณา แต่ศาลเองก็ยังไม่เคยนำมาตรานี้มาใช้ดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนในประเทศไทยเลย ซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่สังคมต้องมาพิจารณาและติดตามกันต่อไป 

 

นอกจากคำถามข้างต้นแล้ว สังคมก็ยังตั้งคำถามว่าอะไรเป็นสาเหตุของการกระทำอันเลวร้ายของ 'เด็กเลว' กลุ่มนี้

 

ที่จริงแล้ว เด็กนั้นไม่ได้เกิดมาเป็น 'ผ้าขาว' เพราะแต่ละคนเกิดมาพร้อมกับปัจจัยทางพันธุกรรมและชีวภาพที่ส่งผลต่อแนวโน้มของพฤติกรรม บุคลิกภาพและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อเด็กค่อย ๆ เติบโตก็จะถูกหล่อหลอมจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูและประสบการณ์ต่าง ๆ ของชีวิต เรียกได้ว่า ไม่มีใครเกิดมาแล้ว 'เลว' โดยพื้นฐาน เพราะเป็นปฎิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรมและชีวภาพกับปัจจัยอื่น ๆ นั่นเอง 

 

 

สำหรับในกรณีของเด็กในแก๊งที่ฆาตกรรม 'ป้ากบ' นั้น ผู้เขียนขอคาดการณ์อย่างกว้าง ๆ ถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจบ่มเพาะความ 'เลว' ของการกระทำของเด็ก ดังต่อไปนี้ 

 

 

1. สภาพแวดล้อมในครอบครัว 

 

สภาพแวดล้อมในครอบครัวเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญอันดับแรกต่อตัวเด็ก เพราะส่งผลต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็ก ทั้งทางด้านกายภาพ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา หากปัจจัยทางด้านครอบครัวเข้มแข็ง เช่น มีความอบอุ่นในครอบครัว มั่นคง มีความรักและใกล้ชิดกัน เด็กก็จะมีต้นทุนชีวิตที่ดีในการเติบโต แต่หากเด็กมาจากครอบครัวที่มีปัญหา เช่น มีความรุนแรงในครอบครัว การเลี้ยงดูแบบไม่เอาใจใส่ การถูกทอดทิ้ง การที่เด็กถูกตามใจจนเกินไป ก็จะส่งผลให้เด็กเติบโตมามีปัญหาทางด้านพฤติกรรมและบุคลิกภาพได้
 

2. การคบเพื่อนที่ไม่ดีและส่งเสริมกันในการกระทำผิดอาญาร่วมกัน 

 

เด็กโดยเฉพาะวัยที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นนั้น เพื่อนมีอิทธิพลมาก ๆ กับชีวิตของเด็ก การอยากได้รับการยอมรับเป็นแรงจูงใจในการสร้างพฤติกรรมต่าง ๆ ของเด็ก สำหรับเด็กวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา มีสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่ไม่ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเด็กเหล่านี้คือเพื่อน ซึ่งสำคัญกว่าพ่อแม่ พี่น้อง โรงเรียน การเรียน หรืออื่นใดในโลก หากมีเพื่อนที่ดี ก็จะได้รับอิทธิพลที่ดีไปด้วย แต่หากมีเพื่อนที่ไม่ดี เกเร หรือเป็นโรคจิตที่มีอาการชอบต่อต้านสังคม เกเร และก้าวร้าว ไม่ยอมรับต่ออำนาจและกฎเกณฑ์ของผู้ปกครอง โรงเรียน หรือสังคม ย่อมจะชักจูงเด็กในกลุ่มไปในทางที่ไม่ดี เพื่อนในกลุ่มหากรวมตัวกันเป็นแก๊งที่ใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากกว่าเวลาที่อยู่กับโรงเรียน หรือครอบครัวที่บ้านแล้วด้วย ก็เปรียบเสมือนกับการเข้าลัทธิหนึ่งเลยทีเดียว เด็กที่เคยมีความประพฤติดี การเรียนดี ก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นเด็กที่มีความประพฤติที่ 'เลว' ได้ภายในเวลาไม่นาน 

 

จากข่าว เด็กบางคนในกลุ่มที่เคยมีประวัติที่ดี มีพฤติกรรมที่ดี เรียนเก่ง แต่กลับกลายเป็น 'หัวโจกร่วม' ของแก๊งในเวลาไม่ถึงปี ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งคุณครูต้องคอยหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก และเพื่อน ๆ ของเด็กด้วยว่าเป็นแบบใด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา นอกจากนี้ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะป้องกันปัญหานี้ หากเด็กมีความผูกพันและอยู่ในสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่ดี จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดจากการถูกชักจูงให้ไปเข้าแก๊งที่ไม่ดีและพัฒนาเป็นอาชญากรในที่สุด  

 

3. การใช้สารเสพติดอย่างต่อเนื่อง 

 

เด็กกลุ่มนี้มักจะเสพกัญชาและดื่มน้ำกระท่อมเป็นประจำแทบทุกวัน ซึ่งสารเสพติดเหล่านี้ส่งผลต่อสมองของเด็กในเรื่องของการควบคุมตัวเอง การตัดสินใจ การประมวลผล และการควบคุมอารมณ์ ซึ่งเด็กวัยนี้โดยพื้นฐานสมองด้านนี้ก็ยังเติบโตไม่เต็มที่อยู่แล้ว ยิ่งใช้สารเสพติดก็ยิ่งกระทบต่อพัฒนาการและโครงสร้างของสมองของเด็ก เมื่อขาดความสามารถทางสมองในด้านนี้ก็ส่งผลให้เด็กไปก่ออาชญากรรมได้ง่ายขึ้นเพราะทำอะไรตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ความรู้สึก และขาดความยับยั้งชั่งใจ

 

4. ปัญหาทางจิตเวช 

 

เด็กบางคนอาจมีโรคทางจิตเวชที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร ต่อต้านสังคม และก้าวร้าว เช่น โรคพฤติกรรมเกเร (conduct disorder) ที่มีอาการก้าวร้าว ทำลายข้าวของ โกหกเป็นนิสัย หรือมีปัญหาในการปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและซ้ำซากเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
 

นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจเป็นโรคไซโคพาธ (psychopathy) ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ การขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ขาดการควบคุมอารมณ์ และมักมีพฤติกรรมเอาเปรียบและโกหกหลอกลวงผู้อื่น และชอบทำสิ่งตื่นเต้นเร้าใจ เด็กบางคนในกลุ่มโดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติปัญหาทางพฤติกรรมมานาน อาจจะเริ่มตั้งแต่วัยแค่ 2-3 ขวบ เช่น ชอบโกหก ไม่รู้สึกผิดเวลาทำอะไรผิด แม้ใช้วิธีการลงโทษก็ไม่ได้ผล ต่อมา เมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่น เด็กไซโคพาธร่วมกับการมีบุคลิกเย็นชาและไร้ความรู้สึกนั้นมักจะชอบตั้งกลุ่มแก๊งกับเพื่อนที่มีลักษณะนิสัยก้าวร้าวและต่อต้านสังคมมาก่ออาชญากรรมร่วมกัน โดยตัวเด็กไซโคพาธจะเป็นหัวโจกยุยงส่งเสริมและกดดันเพื่อนในแก๊งให้ร่วมกันละเมิดกฎหมายและอาชญากรรมต่าง ๆ ด้วย และก่อคดีที่มีความร้ายแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการจับกุม

 

ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครู ถ้าสงสัยว่าเด็กอาจมีแนวโน้มเป็นโรคไซโคพาธ ควรรีบนำไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้ตรวจวินิจฉัยและรักษา เพราะเด็กไซโคพาธไม่สามารถใช้การดูแลเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนด้วยวิธีการเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปได้ เช่น การบ่นไปสอนไปหรือลงโทษแบบธรรมดาจะไม่ได้ผล ต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูก็ต้องได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในการร่วมกันช่วยปรับพฤติกรรมเด็กก่อนสายเกินไป เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ โดยเฉพาะเมื่อเยาวชนที่อายุเกิน 18 ปีไปแล้ว การรักษาจะเป็นไปได้ยาก ซับซ้อนมากและอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะดีขึ้น

 

5. ปัญหาทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและระบบในการฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิด

 

การที่เด็กอาจไม่เคยถูกลงโทษทางกฎหมายเวลาที่กระทำผิด เช่น ไม่เคยโดนดำเนินคดีจากการกระทำผิดกฎหมายในครั้งก่อน ๆ ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่ทำผิดร้ายแรงซ้ำ ๆ และรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือการที่ได้รับมาตรการอื่นแทนการลงโทษทางกฎหมายที่เบาเกินไป ดังนั้น เมื่อทำผิดแล้วก็ไม่ได้เกิดผลอะไรขึ้นจริงจังตามมา เด็กจึงไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและกล้าที่จะก่อเหตุร้ายแรงต่อไป

 

ในส่วนนี้ก็คงต้องมาตามดูถึงความเป็นไปได้ในการทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ว่ายังสอดคล้องกับสภาวะทางสังคมในปัจจุบันหรือไม่ที่เด็กเติบโตเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก นอกจากนี้มาตรการในการฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดให้กลับมามีพฤติกรรมที่ดีและเป็นสมาชิกที่เป็นประโยชน์ในสังคมได้เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กับมาตรการการลงโทษทางกฎหมาย ซึ่งน่าจะต้องกลับมาประเมินว่าจะพัฒนาความสามารถในสร้างมาตรการฟื้นฟูเด็กในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไรบ้าง

 

บทสรุป

 

เด็กไม่ได้เกิดมาเป็น 'ผ้าขาว' แต่เกิดมาเปรียบเสมือนเป็น 'ผ้าหลากสี' ที่แต่ละผืนก็มีสีสันและลวดลายเฉพาะตัว การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้เติบโตในทางที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง และเด็กไม่มีใครเกิดมา 'เลว' แต่กำเนิด แม้บางคนอาจจะมีพันธุกรรมหรือโรคทางจิตบางอย่างที่มีแนวโน้มที่อาจจะกระทำผิดได้มากกว่าคนอื่นก็ตาม แต่สิ่งสำคัญมากกว่าปัจจัยทางพันธุกรรมคือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู จึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งคุณครูจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยต้องใช้วิธีที่เหมาะสมในการอบรมสั่งสอนพฤติกรรมที่ดี และปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีก่อนที่จะพัฒนาไปในทางเลวร้ายและยากที่จะปรับตัวให้ดีขึ้นได้ หากเด็กกระทำผิด ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย หรือปกป้องเด็ก แต่ต้องหาวิธีจัดการกับพฤติกรรมให้เหมาะสม ทั้งนี้ควรจะสังเกตด้วยว่าเด็กอาจจะมีปัญหาทางจิตเวชหรือไม่ โดยเฉพาะหากเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมร้ายแรงกว่าเด็กทั่วไป ก็ควรรีบนำไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีการรักษาเด็ก พร้อมทั้งฝึกทักษะของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่เหมาะสม การคบเพื่อนก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งโดยเฉพาะในวัยรุ่น พ่อแม่และผู้ปกครองต้องช่วยกันสอดส่องดูแลให้เด็กอยู่ในสังคมเพื่อนที่ดี 

 

กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายต่อเยาวชนเองก็มีส่วนสำคัญในการช่วยกำหนดพฤติกรรมของเด็กด้วย หากกฎหมายเบาเกินไป หรือไม่ถูกบังคับใช้อย่างที่ควร ก็จะทำให้เด็กขาดความยำเกรงและย่ามใจ เพราะทุกการกระทำต้องมีผลของการกระทำที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นเด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้ถึงขอบเขตการกระทำที่ตนต้องพึงเคารพ นอกจากนี้ กระบวนการในการฟื้นฟูแก้ให้กลับมาเป็นคนที่ดีของสังคมก็สำคัญไม่แพ้การลงโทษที่เด็ดขาดเช่นกัน 

 

เราจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อควบคุมปัจจัยที่เป็นตัวสร้างสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบในการบ่มเพาะความ 'เลว' เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต มีการพัฒนาศักยภาพที่เหมาะสม และเป็นทั้งความหวังและกำลังสำคัญของสังคมและประเทศชาติในอนาคต

 

 

บทความโดย ตุลาพร อาชานานุภาพ ที่ปรึกษาทางจิตวิทยา (ปริญญาโทจิตวิทยาการปรึกษา สาขาการบำบัดคู่สมรสและครอบครัว University of San Francisco)

 

 

สามารถอ่าน เลือดออกในสมองและภาวะอกรวน : ผลชันสูตรป้ากบ ตายทรมาน? เพิ่มเติมได้ที่นี่

 

 

Smart Doctor ตัวช่วยดูแลสุขภาพ คุณสามารถตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง ได้ที่ Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home 

 

 

ข้อมูลล่าสุด : 7 ก.ค. 2567