“วิ่ง” ออกกำลังกายแต่เสี่ยงตายเพราะ “วูบ”
“วิ่ง” ออกกำลังกายแต่เสี่ยงตายเพราะ “วูบ”
ในยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การออกกำลังกายจึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้ชื่นชอบการดูแลตัวเอง การออกกำลังกายที่ง่ายที่สุดคือ “การวิ่ง” ซึ่งปัจจุบันเป็นกิจกรรมยอดฮิตของนักวิ่ง จนเกิดเป็นงานวิ่งมากมายให้เลือกเข้าร่วมทั่วประเทศ
แม้การวิ่งจะเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่ผลร้ายถึงชีวิตที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้จากการวิ่ง แล้ว วูบ…
สาเหตุที่คนวูบระหว่างการวิ่ง
- โรคหัวใจ
สถิติผู้ป่วยที่เกิดอาการวูบหมดสติและเสียชีวิตจากการวิ่งมาราธอน ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคหัวใจ บางคนไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจอยู่ ซึ่งไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม เมื่อเกิดการกระตุ้นจากการวิ่ง อาจทำให้เกิดภาวะช็อกและเกิดอาการวูบได้ นักวิ่งจึงควรตรวจสุขภาพตัวเองเป็นประจำ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะออกกำลังกายอย่างมีประสิทธิภาพ
- โรคลมแดดหรือฮีตสโตรก และภาวะขาดน้ำ
ลมแดดหรือฮีตสโตรก เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือกำจัดความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ความร้อนจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติและเกิดปฏิกิริยาการอักเสบของร่างกายทำให้เกิดฮีตสโตรก นอกจากนี้ เมื่อสูญเสียเหงื่ออย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับน้ำมาชดเชยร่างกาย จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เมื่อไหร่ที่ออกกำลังกายแล้วเกิดอาการวูบหมดสติ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน อย่าละเลยอาการเสี่ยงโรคที่อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิต
หากมีอาการควรหยุดวิ่ง!
อาการของโรคหัวใจ
- เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก
- เวียนศีรษะ หน้ามืดเหมือนจะเป็นลม
อาการของฮีตสโตรกและภาวะขาดน้ำ
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- ปวดศีรษะแบบตุบ ๆ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- กระหายน้ำมาก ปากแห้ง
- หัวใจเต้นเร็ว
- ปวดตามกล้ามเนื้อ เริ่มเป็นตะคริวตามกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
หากพบอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์ด่วน
ขั้นตอนการช่วยเหลือเบื้องต้นหากพบคนวูบระหว่างการวิ่ง
- เช็กการรู้สึกตัวของผู้ป่วย ว่ายังมีสติอยู่หรือไม่ด้วยการเขย่าตัวเบา ๆ
- หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้ขอความช่วยเหลือพร้อมเรียกรถพยาบาล
- ตรวจเช็กชีพจรว่ายังเต้นอยู่หรือไม่ สามารถทำได้ด้วยการใช้นิ้วแตะที่เส้นเลือดใหญ่ข้างคอ หากเต้นเบาจนไม่แน่ใจให้ทำการปั๊มหัวใจผู้ป่วย
- เมื่อพบว่าผู้ป่วยไม่หายใจ ให้ปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจ ด้วยการทำ CPR ไม่ต้องผายปอด
- หากสงสัยว่าเกิดอาการฮีตสโตรกให้รีบพาเข้าที่ร่มในที่ที่มีความเย็นหรือห้องแอร์ จากนั้นถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น วางถุงน้ำแข็งตามศีรษะ คอ รักแร้ และขาหนีบ หากยังรู้สึกตัวให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย
- รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
การป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงต่อการวิ่งแล้ววูบ
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนวิ่ง และหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายก่อนออกไปวิ่ง ระหว่างวิ่ง และหลังวิ่ง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแดด หรือในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น หากเลี่ยงไม่ได้ก่อนวิ่งควรดื่มน้ำ 400-500 มล. (ประมาณ 2 แก้ว) ระหว่างวิ่งควรดื่มน้ำ 200-300 มล. (ประมาณ 1 แก้ว) ทุก ๆ 20 นาที เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ก่อนออกไปวิ่ง
- ควรเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับการวิ่ง เช่น เสื้อสีอ่อน เนื้อผ้าบาง ๆ หลวม ๆ และระบายความร้อนได้ดี
สรุป
เราสามารถป้องกันการวิ่งแล้ววูบได้ด้วยการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคที่อาจกำเริบจากการออกกำลังกาย หากใครที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง นอกจากนี้ควรเตรียมตัวและร่างกายก่อนวิ่ง ระหว่างวิ่ง และหลังวิ่ง เพื่อให้สุขภาพของคุณแข็งแรงไปอีกนาน
อ่านข้อมูล โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และ โรคลมร้อนหรือฮีตสโตรก เพิ่มเติม
เช็กก่อน รู้ทันโรคก่อน ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองกับ "Smart Doctor" โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home
ข้อมูลล่าสุด : 7 ก.ค. 2567