ปวดท้องเรื้อรังอย่าเมิน คุณเสี่ยงเผชิญมะเร็งกระเพาะอาหาร

ปวดท้องเรื้อรังอย่าเมิน คุณเสี่ยงเผชิญมะเร็งกระเพาะอาหาร

เมื่อรู้สึกปวดท้อง โรคที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับแรก คือ "โรคกระเพาะ" และเพราะเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะ จึงมักกินยารักษาโรคกระเพาะและยาบรรเทาปวด  โดยไม่รู้ว่าอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นนั้นร้ายแรงกว่าที่คิด ยิ่งปวดท้องเรื้อรังไม่หายขาดสักที เผลอ ๆ อาจเสียงเป็น "มะเร็งกระเพาะอาหาร" อย่างไม่ทันตั้งตัว  

 

มีคนจำนวนมากเสียชีวิตด้วย "โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร" เพราะชะล่าใจ คิดว่าเป็นโรคกระเพาะทั่วไป กว่าจะรู้ตัวก็ลุกลามจนสายเกินแก้

 

ใครมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

 

  • คนที่มีอายุเยอะ โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบมากในช่วงอายุ 60-80 ปี
  • มีพฤติกรรมชอบกินอาหารที่อาจก่อมะเร็ง เช่น อาหารปิ้งย่าง อาหารแปรรูป กินของหมักดอง หมักเกลือ รมควัน หรือใส่ดินประสิว
  • มีพฤติกรรมชอบสูบบุหรี่จัด และดื่มแอลกอฮอล์ 
  • เพศชายมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าเพศหญิง 2-3 เท่า
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • ผู้เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร
  • การติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (Helicobacter pylori) ซึ่งทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
  • ผู้ที่สัมผัสสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน

 

ปวดท้องแบบไหนเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

 

มะเร็งกระเพาะอาหาร แรกเริ่มจะไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อก้อนมะเร็งนั้นเริ่มโตขึ้น ก็จะมีอาการคล้ายโรคกระเพาะ เช่น ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย ท้องอืด แน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเหนือสะดือ นอกจากนี้ยังรู้สึกอิ่มเร็วหลังกินอาหารไปเพียงเล็กน้อย ซึ่งในช่วงแรกกินยารักษาโรคกระเพาะอาการก็ดีขึ้น แต่ต่อมาจะไม่ได้ผลและมีอาการอื่นตามมา เช่น 

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย 
  • กลืนลำบาก เบื่ออาหาร 
  • ท้องผูกหรือท้องเดิน 
  • คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด
  • อาจถ่ายอุจจาระดำ น้ำหนักลด ซีด ดีซ่าน (ตาเหลือง) 

 

ส่วนโรคกระเพาะทั่วไปจะมีอาการปวดแสบหรือจุกแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ โดยหลังกินอาหารอาจดีขึ้นหรือเป็นมากขึ้นก็ได้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือท้องเดินร่วมด้วย

 

หากมีอาการปวดแน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเหนือสะดือคล้ายโรคกระเพาะ นานเกิน 2-4 สัปดาห์ หรือกินยารักษาโรคกระเพาะไม่ทุเลา อาเจียนบ่อย อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ เป็นต้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค

 

ปฏิบัติตามนี้ ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

 

  • ไม่สูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด หากจะดื่ม ควรดื่มเป็นบางครั้งบางคราวในปริมาณเล็กน้อย
  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์รมควันหรือใส่ดินประสิว เนื้อแดงที่ปิ้งย่าง ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักดอง
  • กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หากพบว่ามีการติดเชื้อเอชไพโลไร ซึ่งทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง และแผลในกระเพาะอาหาร ควรรักษาให้หายขาด

 

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

 

สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด รังสีรักษา และการรักษาด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมตามความรุนแรงของโรค และสุขภาพของผู้ป่วย

 

สรุป

ลองสังเกตตัวเองว่า วันนี้เราดูแลร่างกายดีพอหรือยัง หากยังไม่พอ เริ่มตั้งแต่วันนี้ยังไม่สาย อย่าละเลยใส่ใจสุขภาพ เราสามารถลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วยตัวของเราเอง ทั้งนี้ หากมีอาการท้องอืดเป็นประจำหรือปวดท้องเรื้อรัง อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

 

อ่านข้อมูลโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร

 

คุณสามารถเช็กอาการ ถ่ายเป็นเลือด/ถ่ายดำปวดท้องแบบเป็นๆหายๆอาเจียน ซึ่งเป็นอาการที่เป็นสัญญาณของ มะเร็งกระเพาะอาหาร ได้ที่นี่

 

Smart Doctor โปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้นอัจฉริยะ จาก Doctor at Home

ข้อมูลล่าสุด : 7 ก.ค. 2567